ธปท.เดินหน้ายกเครื่องกฎหมาย AMC รับมือหนี้เสียในระบบเพิ่มจากวิกฤตโควิด ชี้ขยายบทบาทรับจ้างติดตามทวงหนี้ให้หน่วยงานภาครัฐ “กยศ.-สสว.” รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่คลังกำหนด พร้อมจ่อไฟเขียวแบงก์ร่วมทุน AMC ตั้งบริษัทบริหารหนี้ได้ไม่ต้อง “ตัดขาย” ลดข้อกังวลถูกกดราคา ขณะที่ SAM รับลูกทันทีเตรียมนำร่องร่วมทุนแบงก์ ฟาก “นายกสมาคม AMC-ผู้บริหาร CHAYO” ขานรับเพิ่มบทบาท AMC
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดยลดข้อจำกัดการประกอบธุรกิจให้ บบส. หรือ AMC สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือน และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้หน่วยงานภาครัฐได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยเฉพาะสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อาจทำให้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบการเงินทยอยเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 อาจไม่เพียงพอในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของระบบการเงินในอนาคต
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ขยายขอบเขตธุรกิจให้ บบส.สามารถรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กับหน่วยงานภาครัฐตามรายชื่อที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ และ 2.ยกระดับคุณสมบัติของ บบส.ที่ขอเข้าจดทะเบียน โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ได้แก่ 1.ด้านธรรมาภิบาล กำหนดลักษณะต้องห้ามของนิติบุคคลที่ขอจดทะเบียนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2.ด้านเงินทุน
และ 3.ให้อำนาจ ธปท.ในการกำหนดเงื่อนไขในการรับจดทะเบียน เช่น ต้องประกอบธุรกิจภายใน 3 ปี ไม่เช่นนั้นถือว่าการขอจดทะเบียนสิ้นผล 4.ขยายระยะเวลาพิจารณารับจดทะเบียน โดย ธปท.สามารถขยายเวลาออกไปได้คราวละไม่เกิน 30 วันทำการ ขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง รวมถึงให้อำนาจ ธปท.ในการเพิกถอนการจดทะเบียน
ปัจจุบันมี บบส.ที่จดทะเบียนตาม พ.ร.ก.ปี 2541 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ณ 31 มิ.ย. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 60 แห่ง และมีบทบาทสำคัญในการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์จากระบบสถาบันการเงิน ณ ปี 2563 มียอดรับซื้อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) กว่า 7.1 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 14% ของยอดคงค้างเอ็นพีแอลในระบบที่มีกว่า 5.23 แสนล้านบาท
เพิ่มบทบาท AMC ตามหนี้รัฐ
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ ธปท.จะออกประกาศเกี่ยวกับ AMC หลังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญจะผ่อนคลายเกณฑ์ ลดเงื่อนไข และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้ AMC เป็นเครื่องมือบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งมีการขยายขอบเขตให้ AMC สามารถรับจ้างติดตามหนี้ของหน่วยงานภาครัฐได้ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือหน่วยงานอื่นที่ภาครัฐให้เครดิตและมีการผ่อนชำระคืนหนี้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้
ปลดล็อกแบงก์ร่วมทุน AMC
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการยืดหยุ่นให้สถาบันการเงินสามารถหาพันธมิตร (partnership) เพื่อจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้เอง ทั้งในรูปแบบความร่วมมือ (joint venture) หรือรูปแบบอื่น เช่น กองทุน หรือบริษัทเอกชน เป็นต้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ ธปท. ต้องการให้ AMC หรือสถาบันการเงินสามารถนำหนี้เอ็นพีแอลที่ค้างอยู่ในระบบจำนวนมากสามารถออกจากระบบได้ง่ายขึ้น
“ในเดือน ธ.ค.นี้ ธปท.น่าจะมีประกาศ เน้นลดเงื่อนไข เพิ่มความยืดหยุ่นให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้สามารถบริหารหนี้ในระบบได้ดีขึ้น โดยน่าจะมีรูปแบบการให้ธนาคารจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบริหารหนี้ได้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาในเรื่องแบงก์ไม่ยอมตัดขายหนี้ เพราะโดนถูกเสนอส่วนลดราคา (discount) มากเกินไป และเพิ่มแรงจูงใจให้ AMC ได้ค่าคอมมิสชั่นเพิ่มขึ้น จากการรับจ้างบริหารหนี้อย่างเดียว รวมถึงการให้ AMC เข้ารับจ้างติดตามหนี้ ซื้อหนี้ของหน่วยงานภาครัฐได้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
ธปท.ชี้ช่วยทำให้แบงก์ตัวเบา
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะมีประกาศเพื่อปลดล็อกให้ AMC กับแบงก์สามารถที่จะร่วมทุนกันบริหารหนี้ได้สะดวกขึ้น เพื่อโยกหนี้เสียในระบบออกไป ซึ่งจะทำให้แบงก์เบาตัวขึ้น
“ปกติแบงก์และ AMC ก็สามารถร่วมทุนกันได้ แต่มันมีกฎกติกาบางอย่างที่เราทำให้ง่ายขึ้น หลัก ๆ คือ เกณฑ์ของเราที่จะทำให้เขาไม่ต้องนับอะไรมากมาย และทำได้คล่องตัวขึ้น”
SAM เร่งเจรจาร่วมทุนแบงก์
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 คาดว่าน่าจะมีความชัดเจน ในเรื่องการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับ AMC ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) เพื่อให้สามารถบริหารหนี้ได้ดีขึ้น โดยขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมีการพูดคุยการร่วมทุนกันแล้ว อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะเห็นโมเดลการบริหารจัดการหนี้ในรูปแบบอื่นได้
“ในส่วนของ SAM อยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงินหลายรายในการทำโมเดลธุรกิจร่วมทุน เบื้องต้นมองว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ถือเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ผ่าน 2 ทางเลือก คือ การขยายความร่วมมือกับธนาคารในการบริหารหนี้เสีย และโอกาสที่ธนาคารตัดขายหนี้ออกมาสู่ระบบ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการบริหารหนี้ เพราะยังมองว่าทิศทางเอ็นพีแอลยังคงมีต่อเนื่อง” นายธรัฐพรกล่าว
“ธุรกิจ-สมาคม AMC” ขานรับ
นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี นายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) และประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ไนท์คลับ แคปปิตอล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.การเพิ่มบทบาทให้ AMC มากขึ้น โดยต้องการให้เข้าไปช่วยงานภาครัฐแก้ปัญหาเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่มีปัญหา
ซึ่งเบื้องต้นเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ระบุชัดเจน แต่คาดว่า ธปท.ต้องการให้ AMC สามารถเข้าไปรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจากเดิมไม่สามารถทำได้ ประกอบกับ AMC ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ จึงมีทุนจำกัด
ดังนั้น จึงจะให้ AMC เข้าไปแก้หนี้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่ต้องเข้าไปรับซื้อหนี้ออกมา ด้วยการขยายขอบเขตให้ AMC เข้าไปรับจ้างบริหารติดตามทวงถามหนี้ หรือการเจรจากับลูกหนี้ของหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้เสีย
“เดิมกฎหมายกำหนดให้เราสามารถบริหารสินทรัพย์ให้กับธนาคารเฉพาะกิจ หรือ SFIs ได้อยู่แล้ว แต่ร่างประกาศนี้ระบุเป็นหน่วยงานภาครัฐ จึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นหน่วยงานอื่นที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง โดยให้เราเข้าไปเจรจาต่อรองในหน่วยงานที่มีสินทรัพย์ที่มีปัญหา หากทำได้จะช่วยระบบและสินทรัพย์ที่มีปัญหาค้างไว้ของประเทศดีขึ้น โดยหากกฎหมายออกมาใช้เราก็ต้องมาศึกษาและวางแผนในการเข้าไปบริหาร” นายสุชาติกล่าว
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามแนวทางที่เปิดรับฟังความคิดเห็น จะมีการขยายขอบเขตให้ AMC สามารถเข้าไปรับบริหารติดตามหนี้ของ SFIs และขยายต่อไปยังสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) รวมถึงในระยะต่อไป สามารถรับซื้อหนี้เหล่านี้ออกมาจากพอร์ตของหน่วยงานภาครัฐได้
โดยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตรับจ้างติดตามทวงถามหนี้ให้กับ SFIs อยู่ 3-4 ราย ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกันที่เป็นหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน ปัจจุบันมีพอร์ตคงค้างราว 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ระยะเวลาในการติดตามจะมีตั้งแต่ทุก 3-4 เดือน หรือ 6 เดือน และ 1 ปีขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทน (yield) เฉลี่ยพอร์ตติดตามจะอยู่ที่ 15% ของวงเงินที่สามารถติดตามได้
“เดิมแบงก์รัฐจะตามเองหรือจ้างบริษัทภายนอกบ้าง แต่หลังจากนี้ จะสามารถส่งให้ AMC ตามหนี้ให้ได้เลย ตั้งแต่ค้างชำระ 31 วัน หรือ 91 วัน และอาจขยายไปสู่การรับซื้อหนี้ได้ด้วย จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ AMC ช่วยระบบมากขึ้น” นายสุขสันต์กล่าว
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance